สั่งงานด้วยวาจา เป็นคำสั่งโดยชอบฯ ฝ่าฝืนอาจถูกไล่ออก

Loading

เรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับข้อพิพาทระหว่างผู้บังคับบัญชากับผู้ใต้บังคับบัญชา สืบเนื่องมาจากผู้บังคับบัญชาเคยมีคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษร ต่อมาผู้บังคับบัญชาเปลี่ยนแปลงคำสั่งด้วยวาจา แต่ผู้ใต้บังคับบัญชาไม่ได้ปฏิบัติตาม เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายกับหน่วยงานราชการ

ต่อมามีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง เพื่อหาผู้รับผิดชอบทางละเมิดอันเกี่ยวกับความเสียหายต่อหน่วยงานของราชการ คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง เห็นว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นดังกล่าวเกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้ใต้บังคับบัญชา จึงมีคำสั่งให้ผู้ใต้บังคับบัญชาชำระค่าเสียหายให้แก่หน่วยงานราชการ

ผู้ใต้บังคับบัญชาเห็นว่า คำสั่งดังกล่าวนั้น เป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงนำคดีฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งที่ให้ผู้ใต้บังคับบัญชาชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่า การที่ผู้บังคับบัญชามีคำสั่งเปลี่ยนแปลงแก้ไขคำสั่งเดิมด้วยวาจานั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงแก้ไขคำสั่งเดิมที่มีลายลักษณ์อักษรได้

คดีนี้ ศาลปกครองชั้นต้นมีคำวินิจฉัยให้เพิกถอนคำสั่งที่ให้ผู้ใต้บังคับบัญชาชำระค่าเสียหาย ผู้บังคับบัญชา หรือในฐานะผู้ถูกฟ้องคดีไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลปกครองชั้นต้นจึงอุทธรณ์คัดค้านคำวินิจฉัยของศาลปกครองชั้นต้น

ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาอุทธรณ์ของผู้บังคับบัญชา หรือในฐานะผู้ถูกฟ้องคดี เห็นว่า การที่ผู้บังคับบัญชามีคำสั่งด้วยวาจาผู้ใต้บังคับบัญชามีสิทธิ์ร้องขอให้เจ้าหน้าที่ยืนยันคำสั่งเป็นหนังสือได้ แต่ผู้ใต้บังคับบัญชากลับไม่ได้ร้องขอให้เจ้าหน้าที่ออกคำสั่งยืนยันคำสั่งเป็นหนังสือ ตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ผู้ใต้บังคับบัญชาจึงยังมีเจตนาผูกพันในสิทธิและหน้าที่ การเป็นกรรมการตรวจการจ้างและคุมงาน การไม่ได้ใช้สิทธิ์ร้องขอดังกล่าว ไม่มีผลทำให้คำสั่งด้วยวาจาสิ้นผลไปแต่อย่างใด ดังนั้น คำสั่งด้วยวาจาย่อมมีผลเป็นการเพิกถอนคำสั่งเดิมได้ อ้างอิงคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดงที่ อ. 598 / 2557

ประเด็นที่น่าสนใจ คือ หากผู้บังคับบัญชามีคำสั่งผ่านช่องทางแอปพลิเคชัน LINE หรือ สั่งการทางโทรศัพท์ หรือช่องทางอื่นๆ และผู้ใต้บังคับบัญชาไม่ได้ร้องขอให้ยืนยันคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษร คำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่สั่งงานผ่านช่องทางแอปพลิเคชัน LINE หรือสั่งการผ่านโทรศัพท์ หรือช่องทางอื่นๆ จะผูกพันผู้ใต้บังคับบัญชาหรือไม่

รณีนี้ หากเป็นคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจเปลี่ยนแปลงคำสั่งได้ ย่อมเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายและผูกพันผู้ใต้บังคับบัญชาด้วย

ประเด็นที่น่าสนใจอีกส่วนหนึ่ง คือ กรณีที่เป็นบริษัทเอกชน หรือ นายจ้างกับลูกจ้าง หากนายจ้างที่สั่งงานลูกจ้างผ่านแอปพลิเคชัน LINE หรือสั่งการทางโทรศัพท์ หรือช่องทางอื่นๆ และลูกจ้างไม่ปฏิบัติตามจะอ้างเป็นเหตุเลิกจ้างได้หรือไม่

กรณีนี้ หากคำสั่งของนายจ้างเป็นคำสั่งให้ลูกจ้างปฏิบัติงานในทางการที่จ้าง ย่อมเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย มีผูกพันให้ลูกจ้างต้องปฏิบัติตาม และหากลูกจ้างไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายจ้างจนเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง นายจ้างอาจจะเลิกจ้างได้ โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า และไม่ต้องชำระค่าชดเชยตามกฎหมาย

สุดท้ายนี้ จะเห็นได้ว่า คดีตามคำพิพากษาข้างต้น ได้วางบรรทัดฐานในการทำงานไว้อย่างชัดเจน และไม่ว่ากฎหมายหรือระเบียบจะกำหนดขั้นตอนไว้อย่างไรก็ตาม แต่หากทำงานโดยยึดประโยชน์ขององค์กรเป็นที่ตั้ง ย่อมทำให้องค์กรได้รับประโยชน์สูงสุด ส่งผลดีต่อองค์กร ผู้ร่วมงาน และตัวของผู้ใต้บังคับบัญชาเองครับ

แหล่งที่มา : https://www.thairath.co.th/news/local/1756595