รู้ก่อน พร้อมกว่า เตรียมตัวสู่การทำงานในยุคโควิด

Loading

รู้ก่อน พร้อมกว่า เตรียมตัวสู่การทำงานในยุคโควิด

เด็ก ๆ วาดด้วยมือง่าย ๆ ที่มีความสุข ดาวน์โหลดรูปภาพ (รหัส) 400943342_ขนาด  285.7 KB_รูปแบบรูปภาพ AI _th.lovepik.com

 

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อทุกชีวิตบนโลก ทั้งทางตรงและทางอ้อม ในขณะที่ทุกคนกำลังพยายามปกป้องตนเองและครอบครัวจากการติดเชื้อ พวกเขาต่างก็ต้องต่อสู้กับผลกระทบทางอ้อมของการแพร่ระบาดด้วย โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นและคนหนุ่มสาว ที่อยู่ในช่วงที่จะก้าวเข้าสู่เฟสใหม่ของชีวิต ต้องกังวลกับโอกาสในการหางานอันเป็นผลมาจากธุรกิจหลายแห่งที่ต้องปิดตัวลงไป และสถานการณ์ที่ยังไม่แน่นอนในสภาวการณ์วิกฤตโควิด-19 นี้

เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับวัยรุ่นและคนหนุ่มสาว สำหรับการหางานในอนาคต ยูนิเซฟ ประเทศไทย จึงได้จัดการเสวนาออนไลน์ผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ในหัวข้อ “รู้ก่อน พร้อมกว่า เตรียมตัวสู่การทำงานในยุคโควิด” โดยมีผู้เชี่ยวชาญมาให้คำแนะนำ

“ลองเริ่มจากสิ่งใกล้ตัว แล้วลงมือทำเลย” คือ บทสรุปทิ้งท้ายของพี่อู๋ จักริน บูรณะนิตย์ และ พี่ฟ้า กุลปริยา ศิริพานิช ผู้ร่วมก่อตั้ง WE Space ธุรกิจเพื่อสังคมที่มีวิสัยทัศน์ในการช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และผู้เชี่ยวชาญด้านการแนะแนวอาชีพให้กับนักเรียนและนักศึกษาให้ค้นพบตัวเอง รู้จักอาชีพ รู้วิธีการพัฒนาตนเอง และไปสู่เป้าหมายอาชีพของตนเองได้

ประเด็นในการสนทนาครั้งนี้มีที่มาจากผลสำรวจที่ทางองค์การยูนิเซฟ ร่วมกับสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ และกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ ได้จัดทำขึ้นเพื่อศึกษาผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อเด็กและเยาวชนในประเทศไทย ซึ่งพบว่าเด็กและเยาวชนกว่า  8 ใน 10 คน วิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาการเงินของครอบครัวมากกว่าประเด็นอื่น ๆ

การเสวนาออนไลน์ผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ครั้งนี้ ถูกรับชมไปมากกว่า 524,000 ครั้ง และเข้าถึงผู้คนบนเฟซบุ๊กกว่า 165,000 ครั้ง มีผู้ชมส่งคำถามเข้ามามากมาย ซึ่งคำถามหลายนั้น เกี่ยวกับความกังวลของเหล่าวัยรุ่นเกี่ยวกับอนาคตด้านการงาน และโอกาสในการเรียนรู้ของพวกเขา

พี่ฟ้า ซึ่งมีดีกรีเป็นนักจิตวิทยา เปิดประเด็นการสนทนาด้วยหัวข้อ “รู้ก่อน” เพื่อชี้แนวทางให้น้อง ๆ ได้รู้จักตัวเองว่าเป็นคนแบบไหน ชอบอะไรไม่ชอบอะไร และให้ฟังความรู้สึกและความคิดเพื่อให้เข้าใจตัวเอง ยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบันที่บังคับให้เยาวชนต้องอยู่บ้าน หรือเว้นระยะห่าง ยิ่งทำให้ได้มีเวลาอยู่กับตัวเองมากขึ้น พี่ฟ้าแนะนำว่าให้ลองสังเกตตัวเองว่าเรามีความถนัดด้านใด เช่น ช่วงนี้เราทำอาหารกันบ่อยขึ้น ฝีมือเราพอใช้ได้หรือไม่ แล้วเราชอบหรือไม่ การปลูกผัก มันใช่สำหรับเราไหม หรือแม้กระทั่งการเล่นโซเชียล หรือการเล่นเกมส์ออนไลน์ เราจะสามารถลองเป็น YouTuber หรือ นักพัฒนาเกมส์ได้หรือไม่ โดยพี่อู๋เสริมว่าทั้งหมดอยู่ที่ความคิดสร้างสรรค์และความกล้าที่จะลองผิดลองถูก เช่น ถ้าเราเป็นคนถนัดวาดรูป เราจะสามารถนำความสามารถด้านศิลปะของเราไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไรบ้าง

มาถึงประเด็น “พร้อมกว่า” เทรนด์อาชีพที่หนีไม่พ้นในยุคนี้ คือเทรนด์ของงานออนไลน์ และเดลิเวอรี่ อย่างเช่นการขายของออนไลน์ เป็นต้น ซึ่งพี่อู๋แนะนำว่า แน่นอนทักษะสำคัญที่จะขาดไม่ได้ก็คือ ทักษะการรู้เท่าทันเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy) อย่างการรู้จักใช้แอปพลิเคชันเช่น เฟซบุ๊ก (Facebook) หรือไลน์ (LINE) อย่างลึกซึ่งเราสามารถหาความรู้ได้ไม่ยากคอร์สออนไลน์ต่าง ๆ ที่เราสามารถหาความรู้ได้ง่ายและฟรีอีกด้วย อีกทักษะสำคัญก็คือ 21st Century Skills หรือทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ที่ประกอบไปด้วยการรู้จักคิดวิเคราะห์ การใช้ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ การแก้ไขปัญหา และการทำงานร่วมกับผู้อื่น ซึ่งทักษะสุดท้ายนี้ พี่อู๋ได้ยกตัวอย่างการรวมกลุ่มกันสร้างชุมชนออนไลน์ (Online community) เช่น การทำตลาดนัดออนไลน์ ว่าเป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่มีคนกำลังทำการอย่างแพร่หลายในขณะนี้ อีกอย่างการรวมกลุ่ม ยังช่วยให้เราสามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์จากผู้อื่นได้

เมื่อรู้ก่อนและพร้อมกว่าแล้ว สุดท้ายก็มาถึงขั้นตอนของการ “เตรียมตัว” หรือการปรับตัวและปรับใจ ให้พาตัวเราลงมือทำเพื่อเข้าสู่การทำงานในยุคโควิดนี้ ซึ่งพี่ฟ้าได้แนะนำว่าในสถานการณ์ความไม่แน่นอนที่เราทุกคนกำลังเผชิญอยู่ ไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะรู้สึกกังวล ท้อแท้ หรือสิ้นหวัง แต่สิ่งที่สำคัญคือเราต้องปรับความคิดและปรับใจของเราเองให้เข้มแข็งและมองไปสู่อนาคตข้างหน้า และหันมาบริหารจัดการตัวเราเองให้สามารถก้าวไปสู่อาชีพที่เราอยากจะทำในอนาคตให้ได้ เช่น เมื่อเรารู้แล้วว่าเราอยากจะทำอะไรในอนาคต เราน่าจะเริ่มค้นหาว่าเราจะสามารถหาความรู้เสริมได้จากที่ไหนบ้าง ซึ่งแน่นอนว่าโลกออนไลน์เป็นอีกหนึ่งแหล่งความรู้ที่กว้างใหญ่ไพศาล สำหรับน้อง ๆ ที่อาจจะมีเวลาว่างไม่มาก เช่น น้อง ๆ ที่ยังต้องเรียนหนังสือผ่านช่องทางออนไลน์ หรือต้องช่วยงานบ้าน หรือแม้กระทั่งน้อง ๆ ที่ไม่สามารถจดจ่อกับการฝึกอบรมได้นาน พี่อู๋ได้แนะนำการเรียนรู้แบบ Micro-Learning หรือการเรียนในระยะเวลาสั้น ๆ เพียงไม่กี่นาทีต่อวัน ซึ่งจะเป็นการมุ่งเน้นการพัฒนาทักษะด้วยเนื้อหาการเรียนรู้ที่สั้น กระชับ เฉพาะเจาะจงเป็นหัวข้อ เช่น การเรียนภาษา การเรียนเกี่ยวกับ Online Marketing ฯลฯ

อกจากนี้ บางส่วนของเสียงจากวัยรุ่น มีการแสดงความกังวลถึงเรื่องการสูญเสียสมาธิในระหว่างการเรียนออนไลน์ ซึ่งวิทยากรทั้งสองท่านก็ได้ให้คำแนะนำเรื่องการจัดตารางเวลาในแต่ละกิจกรรมของแต่ละวัน และพยายามปฏิบัติตามตารางเวลานั้น หรือหาเพื่อนร่วมเรียนออนไลน์ด้วยกัน

โดยสุดท้าย พี่อู๋และพี่ฟ้าได้ฝากเครื่องมือของทาง WE Space ซึ่งเป็นเครื่องมือที่จะช่วยน้อง ๆ ได้รู้จักตนเอง รู้จักอาชีพ และออกแบบเส้นทางเดินในชีวิต โดยในเครื่องมือนี้ยังมีมากกว่า 250 อาชีพให้น้อง ๆ ได้ทดลองทำความรู้จักอีกด้วย ซึ่งน้อง ๆ สามารถลงทะเบียนเพื่อใช้เครื่องมือนี้ได้ฟรีผ่านทาง https://wespace.in.th/

ขอขอบคุณ:https://www.unicef.org/