ปลอมสำเนาบัตรประชาชนของคนอื่น ผิดอะไรบ้าง

Loading

มีเรื่องที่น่าสนใจ เกี่ยวกับผู้ชายคนหนึ่ง ซึ่งอาศัยอยู่ที่จังหวัดนครพนม และถูกตำรวจไปจับกุมที่บ้านพักในจังหวัดนครพนม โดยอ้างว่าเป็นคนร้ายในคดีลักทรัพย์ ซึ่งก่อเหตุอยู่ที่กรุงเทพมหานคร เหตุที่ตำรวจเชื่อว่า ชายคนดังกล่าวนี้เป็นผู้ก่อเหตุลักทรัพย์ เนื่องจากว่ามีสำเนาบัตรประชาชนของชายคนดังกล่าวเปิดเบอร์โทรศัพท์มือถือ เพื่อติดต่อกับเหยื่อก่อนที่จะก่อเหตุลักเพชรมูลค่าประมาณ 15,000,000 บาท ไปต่อหน้าต่อตาผู้เสียหาย แต่สุดท้ายศาลอุทธรณ์ก็มีคำพิพากษายกฟ้องชายคนดังกล่าว เนื่องจากมีพยานหลักฐานยืนยันว่าชายคนดังกล่าวนั้น อยู่ที่จังหวัดนครพนมในวันที่เกิดเหตุ

จากเหตุการณ์นี้ทำให้ชายคนดังกล่าวต้องถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำนานถึง 7 เดือนก่อนที่กระทรวงยุติธรรมจะเข้าช่วยเหลือ ในเรื่องของการประกันตัวและทางด้านคดีความ ผลที่ติดตามมายังไม่หมดเพียงแค่นั้นครับ ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในระหว่างที่จะต้องสู้คดี เพื่อพิสูจน์ตัวเองสูงเฉียด 1,000,000 บาท แม้จะได้รับเงินเยียวยาจากกระทรวงยุติธรรม แต่ก็ไม่สามารถที่จะบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงได้ทั้งหมด แทบสิ้นเนื้อประดาตัวก็ว่าได้ นอกจากนี้ยังไม่รวมค่าเสียโอกาสต่างๆ รวมถึงกิจการร้านค้า ที่ปิดตัวไปนานก็ต้องเริ่มต้นใหม่ เรียกได้ว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงแค่ชีวิตของผู้ชายบริสุทธิ์คนหนึ่ง แต่มีผลกระทบไปถึงภรรยา บุตร และญาติของชายคนดังกล่าวด้วย

อุทาหรณ์ครั้งนี้ มีความน่าสนใจตรงที่มีการปลอมบัตรประชาชนของผู้ชายคนดังกล่าว แม้กระทั่งตัวของผู้ชายคนดังกล่าวอยู่ในเรือนจำ คนร้ายก็ยังนำสำเนาบัตรประชาชนไปใช้เปิดเบอร์โทรศัพท์อีก

การปลอมบัตรประชาชนมีหลายวิธี และมีอัตราโทษต่างกัน ขึ้นอยู่กับการกระทำของคนร้าย ดังนี้

การปลอมลายมือชื่อลงในสำเนาบัตรประชาชนของผู้อื่น เป็นเพียงการปลอมเอกสาร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคแรก เท่านั้น ไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารราชการ หรือใช้เอกสารราชการปลอม และเมื่อนำสำเนาบัตรประชาชนที่เกิดจากการปลอมลายมือชื่อไปใช้ คนร้ายจะมีความผิดฐานใช้เอกสารปลอม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก

อ้างอิงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12137/2558

ส่วนในกรณีที่คนร้ายแก้ไขข้อความในช่องชื่อ นามสกุล วันออกบัตร หรือวันหมดอายุ ลงในสำเนาบัตรประชาชน ไม่ว่าจะนำไปถ่ายสำเนาใหม่อีกครั้งหรือไม่ ก็น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน แม้จะเป็นเพียงการแก้ไขข้อความลงในสำเนาบัตรประชาชนก็ตาม

การกระทำย่อมเป็นความผิดฐานปลอมบัตรประจำตัวประชาชนอันเป็นเอกสารราชการและฐานใช้บัตรประจำตัวประชาชนอันเป็นเอกสารราชการปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265, 268 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 265 และ

พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชนฯ มาตรา 14 วรรคหนึ่ง (2) ด้วย ซึ่งกรณีนี้มีโทษหนักกว่าการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 ประกอบ 268

อ้างอิงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1572/2549

จากอุทาหรณ์ครั้งนี้ เห็นได้ว่า แม้จะเป็นเพียงสำเนาบัตรประชาชน แต่ก็มีความสำคัญเป็นอย่างมาก ควรเขียนข้อความระบุวัตถุประสงค์ในการใช้สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนอย่างชัดเจน เขียนวันที่ที่ได้ลงนามรับรองสำเนาเอกสาร ตลอดจนควรลงลายมือชื่อหรือเขียนข้อความทับบนภาพใบหน้าบางส่วน เพื่อป้องกันการนำภาพใบหน้าของคนร้ายมาปิดทับ

ที่สำคัญหากท่านประสบเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าว ท่านควรจะนำพยานหลักฐานเข้าสู่สำนวนคดีตั้งแต่ชั้นพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการ เพื่อให้พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการได้ชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานก่อนจะมีคำสั่งฟ้องคดี ซึ่งพนักงานสอบสวน และพนักงานอัยการมีหน้าที่ในการอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชนอยู่แล้ว

อย่าคิดเพียงว่า ไม่ผิดใครก็ทำอะไรไม่ได้ คนที่คิดแบบนี้ติดคุกมาเยอะแล้ว พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ และศาล พิจารณาพยานหลักฐานในสำนวนคดีเท่านั้น ไม่มีอำนาจนำพยานหลักฐานนอกสำนวนมาพิจารณา ดังนั้น ท่านเองจะต้องทำหน้าที่พิสูจน์ความบริสุทธิ์ของท่านด้วยครับ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันความเสียหาย และไม่ให้ท่านต้องตกเป็นแพะรับบาป

แหล่งที่มา : https://www.thairath.co.th/news/local/1716058