ข้าราชการเจ้าชู้ มีสิทธิ์โดนไล่ออก?

Loading


มีเรื่องที่น่าสนใจที่อยากจะหยิบยกมาวิเคราะห์ในเชิงกฎหมายหลายเรื่อง มีทั้งกฎหมายใหม่ๆ ที่ออกมาบังคับใช้หลายฉบับ แต่มีอยู่เรื่องหนึ่งครับ ที่เชื่อว่าสะเทือนใจผู้หญิงหลายท่าน เกี่ยวกับข่าวที่ครูสาวท่านหนึ่งแอบคบหากับผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งหนึ่ง นับ 10 ปี ในขณะที่ผู้อำนวยการมีภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่แล้ว ครูสาวท่านนี้ บูชาคำว่า “รัก” ยอมตัดผมสั้น ยอมทำตัวเป็นทอม เพื่อตบตาบุคคลทั่วไป ไม่ให้ระแวงสงสัยว่า ครูสาวกับผู้อำนวยการโรงเรียนมีความสัมพันธ์ในเชิงชู้สาว สุดท้ายถูกผู้อำนวยการกลั่นแกล้งสารพัด เพื่อให้ลาออกจากราชการครู ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการของศูนย์ดำรงธรรม ซึ่งต้องรอผลชี้ขาดอย่างเป็นทางการอีกครั้ง 

จากเนื้อหาของข่าวมีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับการพิจารณาพยานหลักฐานหรือการดำเนินการทางวินัยข้าราชการที่มีพฤติการณ์ไม่เหมาะสม วันนี้ขอนำคดีที่เกิดขึ้นจริง 2 คดี มาให้ท่านผู้อ่านได้ศึกษา ซึ่งทั้ง 2 คดีศาลปกครองสูงสุดได้มีคำวินิจฉัยว่า คำสั่งปลดออกจากข้าราชการนั้นเหมาะสมกับความผิดแล้ว

คดีแรก ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า เมื่อพยานไม่มีเหตุโกรธเคืองหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าจะ ให้การปรักปรำนางสมหญิง (ผู้ฟ้องคดี) และคำส่ังลงโทษทางวินัยไม่จำต้องปรากฏพยานหลักฐานจนปราศจาก ข้อสงสัยเหมือนการลงโทษทางอาญา ทั้งการดำเนินการทางวินัยและการดำเนินคดีอาญามีหลักเกณฑ์ วิธีการ สอบสวน และการลงโทษไว้เป็นการเฉพาะแยกจากกันคนละส่วน และกฎหมายบัญญัติให้ดำเนินการทางวินัยได้ โดยไม่ต้องรอฟังผลคดีอาญา

เมื่อนางสมหญิงมีพฤติการณ์อยู่อาศัยในบ้านร่วมกันสองต่อสองกับนายเสือจนตลอดข้ามคืน ย่อม อนุมานได้ว่ามีความสัมพันธ์พิเศษต่อกัน การที่นางสมหญิงประพฤติตนไม่เหมาะสมเป็นเหตุให้บุคคลอื่นติฉินว่า มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับสามีของผู้อื่น จึงเป็นการไม่รักษาช่ือเสียงและเกียรติศักดิ์ของหน้าที่ราชการและผิด ศีลธรรม อันถือว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงตามมาตรา 94 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบ ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 (เทียบเคียงได้กับมาตรา 85 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบ ข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551) ดังนั้น คำส่ังลงโทษปลดออกจากราชการจึงเหมาะสมกับความผิด (คำพิพากษา ศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 546/2560)

คดีที่สอง ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า เมื่อผลสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนสรุปว่า ผู้ฟ้องคดี มีพฤติกรรมความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับผู้ใต้บังคับบัญชา แม้จะไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าถึงขั้นมีความสัมพันธ์ทางเพศ หรือไม่ แต่การยอมลงชื่อรับสารภาพเกี่ยวกับความสัมพันธ์ฉันชู้สาวของผู้ฟ้องคดีต่อหน้านายกเทศมนตรี และจากถ้อยคำพยานถึงพฤติกรรมของผู้ฟ้องคดีกับผู้ใต้บังคับบัญชาในระยะเวลา 10 เดือนที่มีการพูดโทรศัพท์ ติดต่อกันทั้งกลางวันและกลางคืน การไปพักในห้องเดียวกันหรือไม่ก็ตาม ทั้งในจังหวัดและต่างจังหวัดของทั้งคู่ และจากถ้อยคำพยานเพื่อนร่วมงานผู้หญิงในที่ทางานหลายปาก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมของผู้ฟ้องคดีที่ไม่น่า ไว้วางใจในเรื่องชู้สาว และแม้จะอ้างว่าขณะเกิดเหตุพิพาทครอบครัวของทั้งสองฝ่ายอยู่ด้วยกันเป็นปกติสุข ก็ไม่อาจ นำมาอ้างให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากความผิดไปได้ เพราะผู้ฟ้องคดีในฐานะพนักงานเทศบาลต้องรักษาชื่อเสียงของตน และ รักษาเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งข้าราชการของตนมิให้เสื่อมเสีย โดยไม่กระทำการใดๆ อันได้ชื่อว่าประพฤติชั่ว ตามข้อ 19 ของประกาศคณะกรรมการพนักงานเทศบาล เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการสอบสวน การลงโทษ ทางวินัย การให้ออกจากราชการ การอุทธรณ์ และการร้องทุกข์ ลงวันที่ 1 มีนาคม 2545


เมื่อผู้ฟ้องคดีมีพฤติกรรมฉันชู้สาวกับหญิง ซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาที่มีคู่สมรสตามกฎหมายอยู่แล้ว แม้จะไม่มีพยานหลักฐานชัดเจนว่ามีความสัมพันธ์ทางเพศก็ตาม แต่การดำเนินการทางวินัยไม่จำเป็นต้องพิสูจน์โดย ปราศจากข้อสงสัยถึงการกระทำความผิดดังเช่นในคดีอาญาจึงจะถือว่าเป็นความผิดวินัย ผู้ฟ้องคดีจึงเป็นผู้กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อบ. 41/2561) 

จากคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดทั้งสองฉบับจะเห็นได้ว่าในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพฤติกรรมฉันชู้สาว ไม่จำเป็นต้องมีพยานหลักฐานอย่างชัดเจน โดยปราศจากข้อสงสัยว่ามีความสัมพันธ์ทางเพศจริง ดังเช่นการพิสูจน์ข้อเท็จจริงในคดีอาญา หากแต่สามารถนำพยานหลักฐานหลายๆ อย่าง มาประกอบกัน เพื่อแสดงให้เห็นถึงความผิดปกติ หรือความสัมพันธ์ที่มากกว่าเพื่อนร่วมงาน ก็สามารถลงโทษทางวินัยข้าราชการได้โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว

สุดท้ายนี้ ข้าราชการจะต้องรักษาชื่อเสียงของตน และรักษาเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งข้าราชการของตนมิให้เสื่อมเสีย โดยไม่กระทำการใดๆ อันได้ชื่อว่าประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง มิฉะนั้น อาจจะถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงจนนำไปสู่การถูกไล่ออกได้

แหล่งที่มา : https://www.thairath.co.th/news/society/1577135