การจัดการปัญหาท้องไม่พร้อมในโรงเรียนอย่างได้ผล

Loading

          ท้องไม่พร้อม หรือการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ (Unplanned Pregnancy) คือปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ โดยผู้ตั้งครรภ์ไม่ได้วางแผนหรือเตรียมตัวมีบุตรมาก่อน ส่งผลให้เกิดปัญหาในการดำเนินชีวิตและส่งผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ต่อเด็กในครรภ์ เพราะเมื่อผู้ตั้งครรภ์ไม่ได้เตรียมตัวที่จะมีบุตร จึงไม่ได้มีการศึกษาและดูแลร่างกายให้เหมาะสมกับการมีบุตร ทำให้บุตรภายในครรภ์อาจมีสภาพร่างกายที่ไม่เหมาะสม หรือซ้ำร้ายผู้ตั้งครรภ์อาจเลือกวิธีทำแท้งซึ่งปัจจุบันการทำแท้งที่นอกเหนือจากการกระทำตามความเห็นของแพทย์นั้นเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เพื่อจบปัญหาต่าง ๆ

 

         ปัญหาท้องไม่พร้อม มักพบเจอมากที่สุดในช่วงวัยรุ่น เพราะเป็นวัยที่ฮอร์โมนกระตุ้นให้เกิดอารมณ์ทางเพศ ทำให้เกิดความอยากรู้อยากลองในเรื่องทางเพศ ประจวบกับวุฒิภาวะและความยับยั้งชั่งใจ รวมถึงความเข้าใจในการคุมกำเนิดอย่างถูกวิธียังน้อย จึงมีความเสี่ยงที่เกิดปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ได้ง่ายดาย                     กว่าช่วงวัยอื่น ๆ

         เมื่อวัยรุ่นประสบปัญหาการตั้งครรภ์สิ่งที่ตามมาอย่างเห็นได้ชัดคือปัญหาในด้านการเรียน เพราะแม้ว่าโรงเรียนจะไม่ได้ปิดโอกาสการมาเรียนของนักเรียนหญิงที่มีภาวะตั้งครรภ์ แต่ส่วนใหญ่นักเรียนที่ประสบปัญหามักจะอาย และเลือกที่จะหยุดเรียนแทน ทำให้นักเรียนกลุ่มนี้ประสบปัญหาด้านการเรียน และถึงแม้ว่าเป็นช่วงเวลาหลังคลอดแล้ว นักเรียนในกลุ่มนี้ก็มีแนวโน้มที่จะลาออกและเรียนไม่จบหลักสูตร

         สำหรับการจัดการปัญหาท้องไม่พร้อมในโรงเรียนนั้น จะมีลักษณะที่เน้นด้านการป้องกันเป็นหลัก คือสร้างภูมิคุ้มกันให้นักเรียน เพื่อไม่ให้ต้องตกไปสู่วังวนของปัญหาดังกล่าว ซึ่งศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กนักเรียน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ได้กำหนดมาตรการและแนวทางในการดูแลช่วยเหลือนักเรียนที่ประสบปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยเรียน โดยให้หน่วยงานในสังกัดนำไปใช้เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการปัญหานี้ในทิศทางเดียวกัน โดยแบ่งออกเป็น 4 ด้าน คือ
1. การจัดการเรียนรู้เรื่องเพศศึกษาและการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็กนักเรียน
2. การเฝ้าระวัง การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยเรียน
3. การดูแลให้ความช่วยเหลือและคุ้มครองนักเรียนที่ตั้งครรภ์ในวัยเรียน
4. การสร้างความตระหนักและการพัฒนาการมีส่วนร่วมของสังคม

         นอกจากนี้ สำหรับนักเรียนที่ประสบปัญหาภาวะท้องไม่พร้อม ทางศูนย์เฉพาะกิจก็ได้มีการนำเสนอแนวทางในบริหารจัดการปัญหา โดยแบ่งเป็น 2 ระดับคือระดับสถานศึกษา กับ ระดับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งมีขั้นตอนในการดำเนินงานในแต่ละระดับ ดังนี้

 

ระดับสถานศึกษา

ในระดับของสถานศึกษา สามารถแบ่งการทำงานออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนของการช่วยเหลือ และส่วนของการคุ้มครอง ซึ่งในส่วนของการช่วยเหลือนั้นได้มีการกำหนดตัวชี้วัดคือ ร้อยละของนักเรียนที่ประสบปัญหาได้รับความช่วยเหลือ เพื่อแสดงให้เห็นถึงคุณภาพของกระบวนการ โดยมีแนวทางการดำเนินงานดังต่อไปนี้

1. จัดบริการปรึกษาให้แก่นักเรียนและผู้ปกครองที่กำลังประสบปัญหาเพื่อคลายความกังวลและหาแนวทางช่วยเหลืออย่างเหมาะสม
2. เปิดช่องทางการสื่อสารขอความช่วยเหลืออย่างหลากหลายเพื่อให้นักเรียนได้ส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินหรือกำลังประสบปัญหา
3. ประสานความร่วมมือกับแพทย์ นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ และผู้เชี่ยวชาญด้านกระบวนการยุติธรรมเพื่อดำเนินการให้ความช่วยเหลือนักเรียนตามระดับความรุนแรงของปัญหา
4. สถานศึกษาต้องรีบนำนักเรียนออกจากสถานการณ์ปัญหาให้เร็วที่สุดและดำเนินการให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นอย่างรวดเร็ว
5. ประสานงานส่งต่อนักเรียนที่ประสบปัญหาไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยให้นักเรียนได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม

          สำหรับส่วนของการคุ้มครองนั้น ได้มีการกำหนดตัวชี้วัดคือ ร้อยละของนักเรียนที่ประสบปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยเรียนที่ได้รับการคุ้มครองสิทธิและโอกาส ซึ่งมีแนวทางในการดำเนินการดังนี้

1. ดำเนินการดูแลช่วยเหลือนักเรียนที่ประสบปัญหาโดยหลีกเลี่ยงการลงโทษหรือให้นักเรียนออกจากระบบการศึกษา
2. สร้างและพัฒนารูปแบบการให้บริการทางการศึกษาให้เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพของนักเรียนที่กำลังประสบปัญหา
3. คุ้มครองสิทธิและโอกาสทางการศึกษา โดยใช้กระบวนการประชุมสหวิชาชีพ เพื่อพิจารณาและคุ้มครองสิทธิตามสมควรแก่กรณี
4. จัดกิจกรรมเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและสร้างต้นทุนชีวิตให้แก่นักเรียน ทั้งกลุ่มเสี่ยง และกลุ่มที่ประสบปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยเรียน

ระดับสำนักงานพื้นที่การศึกษา

         สำหรับแนวทางการดำเนินงานของสำนักงานพื้นที่การศึกษานั้น ได้จัดให้มีมาตรการให้ความช่วยเหลือและคุ้มครองนักเรียน ตามตัวชี้วัดคือ ร้อยละของสถานศึกษาที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินงาน ซึ่งมีแนวทางในการดำเนินการ คือ

1. ให้การสนับสนุนและส่งเสริมสถานศึกษา เพื่อให้มีนักจิตวิทยาประจำโรงเรียน
2. ส่งเสริมให้สถานศึกษา ดำเนินการจัดการศึกษาทางเลือก (Alternative Education Program) สำหรับนักเรียนที่ประสบปัญหา
3. เป็นตัวกลางในการให้บริการปรึกษาแนะนำและช่วยประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง
4. เร่งติดตามและรายงานข้อมูลผลการให้การดูแลช่วยเหลือและคุ้มครองนักเรียนที่ประสบปัญหาแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 

        จะเห็นได้ว่า แนวทางการช่วยเหลือและคุ้มครองนักเรียนที่ประสบปัญหาท้องไม่พร้อมตามการดำเนินการของศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กนักเรียนนั้นค่อนข้างมีความรัดกุมและคำนึงถึงนักเรียนเป็นสำคัญ โดยมีการดำเนินการทั้งสามด้านคือ ด้านการป้องกัน การช่วยเหลือ และการคุ้มครอง ซึ่งถ้าทุกฝ่ายให้ความสำคัญและร่วมมือกันในการบริหารจัดการปัญหานี้อย่างเป็นระบบตามแนวทางที่เหมาะสม จะช่วยให้ปัญหาท้องไม่พร้อมในวัยเรียนลดน้อยลงได้ และในขณะเดียวกัน ก็สามารถช่วยเหลือและคุ้มครองนักเรียนที่ประสบปัญหา ให้สามารถจัดการปัญหาและลดอัตราการลาออกกลางคันของนักเรียนได้อีกด้วย

แหล่งที่มา : https://www.trueplookpanya.com/education/content/77664/-teaartedu-teaart-