“ลูกจ้างประจำ” เกษียณแล้วได้อะไรจากราชการ

Loading

“ลูกจ้างประจำ” เป็นบุคลากรภาครัฐประเภทหนึ่ง ที่มีบทบาทหน้าที่หลักในการสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจของส่วนราชการนั้นๆ ให้ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย บรรลุเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ  ซึ่ง ก.พ. ได้จัดตำแหน่งลูกจ้างประจำตามลักษณะงานออกเป็น 4 กลุ่มงาน คือ กลุ่มงานบริการพื้นฐาน (งานให้บริการเป็นหลัก) กลุ่มงานสนับสนุน(งานช่วยปฏิบัติหรือสนับสนุนผู้ปฏิบัติภารกิจหลัก) กลุ่มงานช่าง (การปฏิบัติงานช่าง) และกลุ่มงานเทคนิคพิเศษ (ใช้ความสามารถทักษะความเชี่ยวชาญเฉพาะตัว)

“ลูกจ้างประจำ” ที่ปฏิบัติงานในสถานศึกษา หรือส่วนราชการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเดิมเราจะคุ้นเคยกับคำว่า “นักการภารโรง” นั้น ปัจจุบันตำแหน่งนี้ไม่มีแล้ว เพราะตั้งแต่ปี 2553 ได้ปรับก็มีประเภทตำแหน่ง ตามที่ ก.พ. กำหนด แต่จะกำหนดให้มีตำแหน่งใดขึ้นอยู่กับลักษณะงานของส่วนราชการนั้นๆ หากเป็นสถานศึกษา หรือหน่วยงานจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานของกระทรวงศึกษาธิการ มีการกำหนดตำแหน่งลูกจ้างประจำใน 3 กลุ่มงาน คือ กลุ่มงานบริการพื้นฐาน ได้แก่ พนักงานรักษาความปลอดภัย(ยาม) แม่บ้าน พนักงานบริการ พนักงานโสตทัศนศึกษา เป็นต้น กลุ่มงานสนับสนุน ได้แก่ พนักงานพิมพ์ดีด พนักงานห้องสมุด ครูช่วยสอน พนักงานขับรถยนต์ เป็นต้น กลุ่มงานช่าง ได้แก่ ช่างไฟฟ้า ช่างไม้ ช่างปูน ช่างครุภัณฑ์ พนักงานขับเครื่องกลขนาดกลาง เป็นต้น

กฎหมายที่กำหนดการเกษียณอายุราชการของลูกจ้างประจำ

“เจ้าหน้าที่ภาครัฐ” ทุกประเภทตำแหน่ง มีกฎหมายกำหนดการเกษียณอายุราชการไว้เป็นการเฉพาะ “ลูกจ้างประจำ” ก็ทำนองเดียวกัน การเกษียณอายุราชการ กำหนดไว้ในข้อ 57(2) แห่งระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยลูกจ้างประจำของส่วนราชการ พ.ศ. 2537 โดยมีสาระสำคัญว่า “ลูกจ้างประจำออกจากราชการเมื่อพ้นจากราชการตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยบําเหน็จลูกจ้างฯ..” ซึ่ง ตามข้อ 6 แห่งระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยบำเหน็จลูกจ้าง พ.ศ. 2519 กำหนดว่า “ลูกจ้างประจำซึ่งมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์แล้วเป็นอันพ้นจากงานเมื่อสิ้นปีงบประมาณที่อายุครบหกสิบปีบริบูรณ์นั้น” จึงสรุปได้ว่า ลูกจ้างประจำเกษียณอายุราชการในปีที่มีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ และในวันที่ 1 ตุลาคม ของปีนั้น ๆ (ผู้เกษียณอายุราชการปีงบประมาณ 2559 คือ ผู้ที่เกิดระหว่างวันที่ 2 ตุลาคม 2489- วันที่ 1 ตุลาคม 2499 หรือผู้เกษียณอายุราชการปีงบประมาณ 2560 คือ ผู้ที่เกิดระหว่างวันที่ 2 ตุลาคม 2499- วันที่ 1 ตุลาคม 2500)

เงินตอบแทนและสิทธิประโยชน์ที่ลูกจ้างประจำจะได้จากราชการเมื่อเกษียณอายุราชการ

การเกษียณอายุราชการด้วยความเรียบร้อย ถือว่าเป็นเรื่องดีที่คนในวงการราชการพึงปรารถนา เพราะเป็นเงื่อนไขที่จะทำให้ได้รับเงินตอบแทน และสิทธิประโยชน์ที่ทางราชการจะมอบให้ เพื่อเป็นการตอบแทนที่ทำคุณประโยชน์ให้กับราชการตลอดรับราชการมา สำหรับลูกจ้างประจำที่เกษียณอายุราชการ จะได้รับเงินตอบแทนและสิทธิประโยชน์จากทางราชการ ดังนี้

          สิทธิประโยชน์ขณะที่ลูกจ้างประจำมีชีวิตอยู่

1.1 เงินบำเหน็จลูกจ้าง ลูกจ้างประจำที่เกษียณอายุราชการมีสิทธิ์ได้รับเงินบำเหน็จปกติ หรือ เงินบำเหน็จรายเดือน (หากเป็นข้าราชการเรียกเงินบำนาญ) โดยให้สิทธิ์เลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งกำหนดไว้ในระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยบำเหน็จลูกจ้าง พ.ศ. 2519 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กล่าวคือ

       1) บำเหน็จปกติ  คือ เงินตอบแทนของลูกจ้างประจำที่ออกจากงานเนื่องจากทำงานมานาน โดยจ่ายก้อนเดียว ตัวอย่างเช่น ลูกจ้างประจำ เงินเดือนสุดท้าย 18,000 บาท มีเวลาราชการ 38 ปี 7 เดือน

          วิธีคำนวณ 18,000 X (38X 12) + 7 หาร 12 = 694,500 บาท (จ่ายเงินเป็นก้อนเดียว)

       2) บำเหน็จรายเดือน คือ เงินตอบแทนของลูกจ้างประจำที่ออกจากงานเนื่องจากทำงานมานาน และต้องมีเวลาทำงานตั้งแต่ยี่สิบห้าปีบริบูรณ์ขึ้นไป จ่ายเป็นรายเดือนไปจนกว่าผู้รับบำเหน็จรายเดือนจะถึงแก่กรรม (แก้ไขโดยระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยบำเหน็จลูกจ้าง (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2552 เดิมจะได้รับเฉพาะบำเหน็จปกติ)

          การคำนวณบำเหน็จรายเดือน ให้คำนวณจากค่าจ้างเดือนสุดท้ายคูณด้วยจำนวนเดือนที่ทำงาน หารด้วยสิบสอง แล้วหารด้วยห้าสิบอีกครั้ง ถ้ามีเศษของบาทให้ปัดทิ้ง (บำเหน็จรายเดือน คือ บำเหน็จปกติหารด้วย 50 นั่นเอง) ตัวอย่างเช่น ลูกจ้างประจำเงินเดือนสุดท้าย 18,000 บาท เวลาราชการ 38 ปี 7 เดือน

          วิธีคำนวณ 18,000 X (38X 12) + 7 หาร 12 = 694,500 = 694,500 หาร 50 = 13,890  (จ่ายเป็นรายเดือน ๆ ละ 13,890 บาท)

  1.2 เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพลูกจ้างประจำ (กสจ.)

       พระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ให้มีการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพลูกจ้างประจำของส่วนราชการ ซึ่งจดทะเบียน (กสจ.) เพื่อเป็นการส่งเสริมการออมให้แก่ลูกจ้างประจำ ได้มีเงินไว้ใช้เมื่อยามออกจากราชการ หรือ เมื่อพ้นวัยทำงาน และเพื่อเป็นการสร้างหลักประกันให้แก่ครอบครัวหากสมาชิกเสียชีวิต ลูกจ้างประจำที่เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพลูกจ้างประจำ และนายจ้าง (ส่วนราชการ)จะต้องส่งเงินสะสม(หักจากค่าจ้าง) และเงินสมทบ(นายจ้างจ่ายสมทบ) เข้ากองทุนฯ และเมื่อลาออกหรือเกษียณอายุราชการ ถือว่าสิ้นสมาชิกภาพการเป็นสมาชิก กสจ. มีสิทธิได้รับเงินผลประโยชน์ตามข้อบังคับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสำหรับลูกจ้างประจำของส่วนราชการ ประกอบด้วย เงินสะสม เงินสมทบ ผลประโยชน์สะสม และผลประโยชน์สมทบ ซึ่งผลตอบแทนที่สมาชิกแต่ละคนจะได้รับมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น ยอดเงินต้นที่นำส่งเข้ากองทุนฯ ซึ่งคำนวณตามอัตราค่าจ้างของสมาชิก และระยะเวลาการเป็นสมาชิก กสจ. ที่เริ่มต้นการสมัครเป็นสมาชิก กสจ.ไม่พร้อมกัน ในปีที่ลูกจ้างประจำเกษียณอายุราชการ เมื่อได้รับประกาศหรือคำสั่งเกษียณอายุราชการแล้ว สามารถยื่นเรื่องขอรับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพลูกจ้างประจำ (กสจ.) มายัง สำนักงานฯ กสจ. ได้ (กรณีลูกจ้างประจำของสถานศึกษา หน่วยราชการผู้เบิกจะนัดหมายมาทำเรื่องพร้อมกับการขอรับบำเหน็จรายเดือน)

นอกจากนั้นกฎหมายยังกำหนดให้ผู้รับบำเหน็จรายเดือนสามารถนำสิทธิในบำเหน็จตกทอดไปใช้เป็นหลักทรัพย์ในการค้ำประกันการกู้เงินกับสถาบันการเงินได้ ตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยบำเหน็จลูกจ้าง (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2557 ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับลูกจ้างประจำ จึงได้ดูแลให้ได้รับค่าตอบแทน สวัสดิการและสิทธิประโยชน์ต่างๆ อย่างเหมาะสมและเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด

แต่การปรับจำนวนเงินบำเหน็จรายเดือนเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับการปรับเงินเดือน หรือเงินค่าครองชีพให้แก่ข้าราชการหรือผู้รับบำนาญเพิ่มขึ้น เมื่อมีการปรับเงินเดือนตามมติคณะรัฐมนตรีนั้น ผู้รับบำเหน็จรายเดือนยังไม่ได้สิทธิ์นี้ เนื่องจากการดำเนินการดังกล่าวจะมีผลกระทบกับภาระงบประมาณในระยะยาว จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาถึงความเป็นไปได้โดยละเอียดก่อน ในอนาคตอาจมีการแก้ไขให้ปรับเพิ่มได้

        บำเหน็จตกทอดสิทธิประโยชน์กรณีลูกจ้างประจำเสียชีวิต

    ลูกจ้างประจำที่เกษียณอายุราชการและรับบำเหน็จรายเดือน ต่อมาถึงแก่ความตาย กฎหมายกำหนดให้ “ทายาท” เป็นผู้มีสิทธิได้รับบำเหน็จตกทอดจำนวน 15 เท่าของบำเหน็จรายเดือนที่ได้รับอยู่ได้ ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยบำเหน็จลูกจ้าง (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2554 ดังนี้

     2.1) จำนวนเงินบำเหน็จตกทอด  มีสูตรการคำนวณ คือ บำเหน็จตกทอด = บำเหน็จรายเดือน X 15 ตัวอย่างเช่น ลูกจ้างประจำรับบำเหน็จรายเดือนๆ ละ 13,890 บาท

           บำเหน็จตกทอด = 13,890 X 15  ทายาทจะได้รับเงินบำเหน็จตกทอด = 208,350 บาท

     2.2) ทายาทผู้มีสิทธิ์ได้รับเงินบำเหน็จตกทอด ดังนี้

           1) บุตร ให้ได้รับ 2 ส่วน (ถ้าผู้ตายมีบุตรตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป ให้ได้รับ 3 ส่วน)

           2) สามีหรือภริยาให้ได้รับ 1 ส่วน

           3) บิดามารดาให้ได้รับ 1 ส่วน

           หากไม่มีบุคคลในลำดับข้อใด ก็ให้แบ่งตามส่วนของบุคคลในลำดับที่เหลือ ถ้าไม่มีบุคคลในลำดับข้อต่าง ๆ ให้จ่ายแก่บุคคลที่ผู้ตายได้แสดงเจตนาระบุตัวผู้รับเงินไว้ต่อส่วนราชการก่อนตาย ถ้าไม่มีบุคคลตาม 1) -3) และผู้ตายไม่ได้แสดงเจตนาระบุตัวผู้รับสิทธิ์ไว้ ให้บำเหน็จตกทอดนั้นเป็นอันยุติ(ตกไป)

        สิทธิ์ที่เสียไปเมื่อพันจากราชการเป็นผู้รับบำเหน็จรายเดือน

    สวัสดิการและสิทธิประโยชน์บางอย่างที่เคยได้รับจากราชการขณะเป็นลูกจ้างประจำจะเสียไปเมื่อเกษียณอายุราชการเป็นที่ผู้รับบำเหน็จรายเดือน ทั้งนี้เพราะเงื่อนไขของกฎหมาย แต่ในขณะที่ผู้เกษียณอายุราชการที่เคยเป็นข้าราชการ(ผู้รับบำนาญ) ยังคงมีสิทธิ์ สิทธิ์ที่ที่ผู้รับบำเหน็จรายเดือนเสียไป มีดังนี้

    3.1) สวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล เป็นเงินที่ทางราชการช่วยเหลือเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลสำหรับตัวผู้มีสิทธิ์เอง(ลูกจ้างประจำ) และบุคคลในครอบครัว ได้แก่ บุตร คู่สมรส บิดา มารดา เมื่อพ้นจากราชการไป กฎหมายให้สิทธิ์เฉพาะผู้ได้รับบำนาญตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการเท่านั้น (เฉพาะข้าราชการ)ที่เกิดสิทธิ์ตามระเบียบและหลักเกณฑ์กระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล แต่หากเป็นลูกจ้างประจำที่เกษียณอายุราชการ(บำเหน็จรายเดือนมิใช่รับบำนาญ) ไม่จัดว่าเป็นผู้รับบำนาญตามกฎหมายว่าด้วยสวัสดิการเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาล ดังนั้นจึงทำให้ลูกจ้างประจำซึ่งเดิมทีเป็นผู้มีสิทธิ์เบิกสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลสำหรับตนเองและบุคคลในครอบครัวได้ เมื่อเป็นผู้เกษียณอายุราชการและเป็นผู้รับบำเหน็จรายเดือนจึงทำให้สิทธิ์นี้เสียไป

        แต่ก็สามารถใช้สิทธิ์เข้ารักษาพยาบาล ของสำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ (สป.สช.) ในฐานะเหมือนประชาชนทั่วไปได้ แต่หากมีคู่สมรสเป็นข้าราชการ ลูกจ้างประจำ หรือผู้รับบำนาญ ก็เปลี่ยนไปใช้สิทธิ์ในฐานะบุคคลในครอบครัวของคู่สมรสได้ โดยไปติดต่อขอเปลี่ยนแปลงผู้ใช้สิทธิ์ที่ส่วนราชการผู้เบิกนั้น ๆ

       3.2) สวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาของบุตร  เป็นเงินที่ทางราชการช่วยเหลือเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการศึกษาสำหรับบุตรข้าราชการ  ลูกจ้างประจำ หรือผู้ได้รับบำนาญตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการเท่านั้น จึงจะเกิดสิทธิ์ตามระเบียบและหลักเกณฑ์กระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาบุตร แต่หากเป็นลูกจ้างประจำที่เกษียณอายุราชการ(รับบำเหน็จรายเดือนมิใช่รับบำนาญ) ไม่จัดว่าเป็นผู้รับบำนาญตามกฎหมายว่าด้วยสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาบุตร ดังนั้นจึงทำให้ลูกจ้างประจำซึ่งเดิมทีเป็นผู้มีสิทธิ์เบิกสวัสดิการการศึกษาบุตรได้ เมื่อเป็นผู้เกษียณอายุราชการและเป็นผู้รับบำเหน็จรายเดือนจึงทำให้สิทธิ์นี้เสียไป

        แต่หากมีคู่สมรสเป็นข้าราชการ ลูกจ้างประจำ หรือเป็นผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ ก็สามารถเปลี่ยนสิทธิ์การเบิกค่าการศึกษาบุตรให้กับคู่สมรสได้ โดยไปติดต่อขอเปลี่ยนแปลงผู้ใช้สิทธิ์ที่ส่วนราชการผู้เบิกนั้น ๆ

         จะเห็นว่า ลูกจ้างประจำที่เกษียณอายุราชการไป หรือลาออก หากรับราชการมาครบ 25 ปี (รวมเวลาทวีคูณ)ก็จะได้รับเงินบำเหน็จรายเดือนทุกเดือนเลี้ยงชีพไปจนวันตาย(ข้าราชการเรียกเงินก้อนนี้ว่าบำนาญ) หากรับราชการครบ 10 ปี (รวมเวลาทวีคูณ) ก็ได้บำเหน็จปกติ(รับเงินครั้งเดียว ข้าราชการเรียกว่าบำเหน็จ) อย่างไรก็ตามสิทธิ์ประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาลและการศึกษาบุตรของผู้รับบำเหน็จปกติและบำเหน็จรายเดือนจะเสียไป ซึ่งเป็นสิทธิที่สำคัญมีผลกระทบต่อกับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ รวมทั้งอนาคตของบุตรหลานด้วย ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรให้ความสำคัญ สร้างความมั่นคง เหมือนกับข้าราชการทุกด้าน อันจะส่งผลให้ผู้รับบำเหน็จรายเดือนเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพของสังคม  โดยทบทวน พิจารณาหาทางออกกฎหมายคืนสิทธิ์เบิกค่ารักษาพยาบาลหลังเกษียณ สิทธิเบิกค่าเล่าเรียนบุตรหลังเกษียณ สิทธิที่จะได้รับการปรับเบี้ยหวัดบำนาญเพิ่มตามมติ คณะรัฐมนตรี  ซึ่งเชื่อว่านี่คือความหวังของลูกจ้างประจำและผู้รับบำเหน็จรายเดือนตั้งตารอ

ที่มา :  http://sobkroo.com/articledetail.asp?id=158